วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการเรียนรู้ บลูม (Bloom)

การเขียนข้อสอบวัดพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย

บลูม (Bloom) และคณะ ได้จัดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาไว้ 3 ด้านคือ ด้านพุทธิพิสัย(Cognitive Domain) ด้านจิตพิสัย(Affective Domain) และด้านทักษะพิสัย(Psychomotor Domain) ซึ่งในด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) นั้น บลูมได้จัดระดับจุดมุ่งหมายตามระดับความรู้จากต่ำไปสูงไว้ 6 ระดับคือ ระดับความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล ซึ่งในส่วนนี้จะกล่าวถึงด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ดังนี้

การวัดด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
พฤติกรรมพุทธิพิสัย  (Cognitive Domain) หมายถึง การเรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะต้องอาศัยความสามารถทางสมองเป็นที่ตั้งของการคิดวิเคราะห์รวมทั้งจดจำ เช่น การเรียนวิชาเลข การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การทำความเข้าใจในการอ่าน การเขียนเรียงความ การคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ  เป็นต้น พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัยหรือพฤติกรรมด้านสมองแบ่งออกเป็น  6  ระดับ โดย Benjamin S. Bloom และคณะเป็นผู้คิดขึ้น ดังนี้
1. ความรู้ - ความจำ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถในการระลึกเรื่องราวประสบการณ์หรือสิ่งที่เคยเรียนมาแล้วได้
ตัวอย่างข้อสอบ
พืชใช้ส่วนใดหายใจและคายน้ำ ?
ก. ใบ
ข. ตา
ค. ดอก
ง. ราก
          2.  ความเข้าใจ (Comprehention) หมายถึง ความสามารถในการแปลความ ตีความ และขยายความจากสื่อความหมายต่าง ๆ ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พฤติกรรมด้านความเข้าใจเป็นความสามารถของสมองในการดัดแปลงแก้ไขสิ่งยากมากให้เป็นสิ่งง่าย หรือดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่ซับซ้อนให้เป็นสิ่งธรรมดา
ตัวอย่างข้อสอบ
ข้อใดมีความหมายในแง่ดี ? 
ก.       ถอยหลังเข้าคลอง
ข.       น่าเกลียดน่าชัง
ค.       น้ำลดตอผุด
ง.        เต่าใหญ่ไข่กลบ
3. การนำไปใช้ (Application) หมายถึง ความสามารถในการนำเอาความรู้-ความจำที่เคยเรียนมา และความเข้าใจในเรื่องราวนั้น ๆ มาใช้แก้ปัญหาที่แปลก แตกต่างไปจากที่เคยเรียนรู้มาก่อน ถ้าเป็นการแก้ปัญหาที่เคยเรียนรู้มาก่อนจะถือว่าเป็นแค่การจำไปใช้เท่านั้น 
ตัวอย่างข้อสอบ
ชาวนาขายข้าวเปลือกใช้วิธีการวัดอย่างเดียวกับการขายอะไร?
         ก.  การขายไก่
         ข.  การขายผ้า
         ค.  การขายกาแฟ
         ง.  การขายน้ำตาล
4. การวิเคราะห์ (Analysis) หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะส่วนย่อย ๆ ของเหตุการณ์ เรื่องราวหรือเนื้อหาต่างๆ ว่าประกอบด้วยอะไร เพื่อค้นหาความจริงต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในเรื่องราวนั้น
ตัวอย่างข้อสอบ
ไข้ชนิดใดอันตรายต่อชีวิตมากที่สุด  ?
ก.       ไข้หวัด
ข.       ไข้ทรพิษ
ค.       ไข้จับสั่น
ง.        ไข้เลือดออก
5. การสังเคราะห์ (Synthesis) หมายถึง ความสามารถในการรวมสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อให้กลายเป็นสิ่งสำเร็จรูปชิ้นใหม่ที่มีคุณลักษณะบางอย่างแปลกพิสดารไปจากส่วนประกอบอย่างย่อยของเดิม การสังเคราะห์เป็นความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่มสิ่งแปลกใหม่
ตัวอย่างข้อสอบ
ถ้าครูออกข้อสอบถามลวงลึก
เด็กจะนึกหลายชั้นหมั่นใฝ่หา
หัวจะฉลาดปราดเปรื่องเรืองวิชา
………………………………”
บทกลอนข้างต้นชื่อ  ข้อสอบเด็กฉลาด
ควรใช้ข้อความในตัวเลือกใดมาต่อกลอนข้างต้น  จึงจะได้ความดีที่สุด ?
ก.      เก่งวิทยาพาเด็กเจริญเอย
ข.      เก่งวิทยาพาสร้างสรรค์กันทั่วเอย
ค.      เก่งวิทยาพาเด็กเพียรสบาย
ง.       เก่งวิทยาพากันสร้างสรรค์ไทย
6. การประเมินค่า  (Evaluation)  หมายถึง ความสามารถในการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับคุณค่าโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดลักษณะพฤติกรรม ขั้นการประเมินค่าที่ถูกต้องนั้นผู้ที่ประเมินค่าสิ่งใด ๆ จะต้องอาศัยข้อมูลรายละเอียดที่เรียนรู้มา(ขั้นความรู้-ความจำ) มาทำความกระจ่างให้รู้ชัด (ขั้นเข้าใจ-นำไปใช้แล้วคิดพิจารณา(ขั้นวิเคราะห์-สังเคราะห์) เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการตัดสินใจในที่สุด การตัดสินใจที่ใช้สติ-ปัญญา พินิจพิจารณาเช่นนี้จึงถือว่าเป็นการประเมินค่า  ส่วนการตัดสินใจโดยไม่คิดพิจารณาเสียก่อนจัดเป็นความคิดเห็น ความรู้สึก ซึ่งเป็นระดับที่ใช้สติปัญญาน้อยกว่า 
ตัวอย่างข้อสอบ
          ถ้าคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมใดที่เหมาะสม ?
ก. อรพินใช้รถที่ผลิตในประเทศ
ข. เอกชัยใช้น้ำมันเบนซินซูปเปอร์
ค. อริสาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก    
ง. อดิรุจใช้เงินซื้อสิ่งที่เป็นความสะดวกสบาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น